ละครนอก มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กัน
แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร
"โนห์รา" หรือ "ชาตรี" โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง
และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป
ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน
ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง
มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์
เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง
การแต่งกาย
ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ
เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก
ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง
ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง
ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก
ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน
บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า "ยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง
แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ
อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์ บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ
มีบทละครนอกอยู่มากมาย แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี
ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง
สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
สมัยรัตนโกสินทร์
มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง
มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓
เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไข)
การแสดง
มีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำ
ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขัน
ไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ถ้อยคำของผู้แสดง มักใช้ถ้อยคำ
"ตลาด" เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า
"ละครตลาด" ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร
ดนตรี
มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า
ก่อนการแสดงละครนอก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู
เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา
เพลงร้อง
มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒ ชั้น
ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก" ติดกับชื่อเพลง เช่น
เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่
บางทีตัวละครจะร้องเอง โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก ๑ คน
สถานที่แสดง
โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน
(เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง
หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น