วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โขน

โขน

การแสดงอีกอย่างหนึ่งให้ท่ารำ และแสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับ วิธีการทุกอย่างเหมือนละคร แต่ไม่เรียกว่า ละคร การแสดงที่จะกล่าวนี้ เรียกว่า "โขน"


โขน เป็นการแสดงที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แต่เพิ่มท่ารำที่มีตัวแสดงแปลกออกไป กับเปลี่ยนทำนองเพลง ที่ดำเนินเรื่อง ไม่ให้เหมือนละคร

                                    การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ : โขนชุดพระรามรบกับ ทศกัณฐ์ ตอนขึ้นลอยสูง

โขน

 มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ ผู้แสดงต้องสวมหัวโขนหมดทุกตัว ยกเว้นตัวนาง พระ และเทวดา ในสมัยโบราณตัวพระและตัวเทวดา ก็สวมหัว ภายหลังจึงเปลี่ยนแปลงให้ตัวพระ และตัวเทวดาไม่ต้องสวมหัว คงใช้หน้าของผู้แสดงเช่นเดียวกับละคร

หัวโขน เป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูตรงตาให้มองเห็น สร้างตามลักษณะของตัวนั้นๆ เช่น ยักษ์ ลิง เทวดา และอื่นๆ ตบแต่งด้วยสี ปิดทอง ประดับกระจก สวยงาม บางท่านก็เรียกว่า "หน้าโขน"
หัวโขนที่ใช้แสดงในเรื่องรามเกียรติ์
พระราม
พระลักษณ์
พระราม
พระลักษณ์
พระพรต
พระสัตรุด
สุครีพ
หนุมาน
องคต
ชมพูพาน
ชามพูวราช
ชมพูพาน - หมี
มหาชมพู
สหัสเดชะ
ทศกัณฐ์ (หน้าทอง)
ทศกัณฐ์
พิเภก
เปาวนาสูร
วิรุญจำบัง
พญาขร
ตรีเศียร
ไมยราพ
มโหทร















เรื่องดำเนินไปด้วยการกล่าวลำนำเล่าเรื่อง เป็นทำนองเรียกว่า "พากย์" อย่างหนึ่ง กับ เจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง บทพากย์เป็นกาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง การพูดของตัวโขน ไม่ว่าจะเป็นทำนองพากย์ ทำนองเจรจา หรือพูดอย่างสามัญชน มีผู้พูดแทนให้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวที่สวมหน้า หรือไม่สวมหน้า ผู้พูดแทนตัวโขนนี้ เรียกว่า "คนเจรจา"

เครื่องแต่งตัว เป็นแบบเดียวกับละครใน นอกจากบางตัวสวมหัวโขนตามเนื้อเรื่อง เสื้อของตัวพระ และตัวยักษ์สมัยโบราณมักมี ๒ สี คือ เป็นเสื้อกั๊กสีหนึ่ง กับแขนสีหนึ่ง นัยว่า เสื้อกั๊กนั้นแทนเกราะ ส่วนตัวลิง ตัวเสื้อ และแขนลายวงทักษิณาวรรต สมมติเป็นขน ของลิงหรือหมี ตัวยักษ์จะต้องมีห้อยก้นเป็นผ้าปักผืนสั้นๆ ปิดชายกระเบน

เรื่องที่แสดง โขนของไทยเราแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว

วิธีการแสดงโขนมีหลายชนิด แตกต่างกันด้วยวิธีการแสดง ดังจะอธิบายไปตามลำดับดังนี้

 โขนกลางแปลง


โขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงกับพื้นดิน ที่เป็นลานกว้างใหญ่ สมมติพื้นที่นั้นเป็นกรุงลงกาด้านหนึ่ง เป็นพลับพลาพระรามด้านหนึ่ง ด้านกรุงลงกาสร้างเป็นปราสาทราชวัง มีกำแพงจำลองด้วยไม้และกระดาษ ด้านพลับพลา ก็สร้างพลับพลามีรั้วเป็นค่ายจำลอง เช่นเดียวกัน ปลูกร้านสูงประมาณ ๒ เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ด้านละวง คนเจรจามีด้านละ ๒ คนเป็นอย่างน้อย วงปี่พาทย์บรรเลง ประกอบกับการแสดงด้านที่วงประจำอยู่ แต่ถ้าเป็นส่วนกลาง เช่น การรบกันกลางสนามหรืออื่นๆ ก็แล้วแต่ วงไหนอยู่ใกล้ ก็เป็นผู้บรรเลง โขนกลางแปลงมีแต่พากย์กับเจรจาเท่านั้น

โขนนั่งราว


โขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรง เลียนแบบโขนกลางแปลง คือ ปลูกโรงสูงพอตาคนยืนดู ปูกระดานพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฉากแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนกลางยาวประมาณ ๑๐ เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นป่าเขา ส่วนนอกด้านขวา (ของโรง) ยาวประมาณ ๓ เมตร ทำภาพนูนเขียนสี เป็นรูปพลับพลาและรั้ว สมมติเป็นพลับพลาพระราม ส่วนนอกด้านซ้ายยาวประมาณ ๓ เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นปราสาทราชวังมีกำแพงสมมติเป็นกรุงลงกา มีประตูเข้าออก ๒ ประตู อยู่คั่นระหว่างฉากส่วนกลางกับส่วนนอก ข้างละประตู ตรงหน้าฉากออกมา ห่างฉากประมาณ ๑.๕ เมตร ทำราวไม้กระบอก มีเสารับสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ยาวเสมอขอบประตูข้างหนึ่งมาถึงขอบประตูอีกข้างหนึ่ง หัวท้ายของโรงทั้ง ๒ ข้าง ปลูกร้านให้สูงกว่าพื้น โรงประมาณ ๑ เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ข้างละวงวิธีแสดง ราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากนั้น เป็นที่สำหรับนั่ง วิธีนั่ง ถ้าหันหน้าไปทางขวาหรือซ้าย ก็เอาเท้าข้างนั้นพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ฝ่ายพระรามจะนั่งค่อนมาข้างขวา พระราม (ตัวประธานฝ่ายมนุษย์) นั่งสุดราวด้านขวา หันหน้าไปทางซ้าย บริวารทั้งหมดนั่งบนราวตามลำดับเรียงไป หันหน้ามาทางขวา และฝ่ายลงกา (ฝ่ายยักษ์) ตัวประธาน นั่งสุดราวด้านซ้าย หันหน้ามาทางขวา บริวารทั้งหมดนั่งหันหน้ามาทางซ้าย ส่วนการแสดง ในตอนที่ไม่นั่ง ก็แสดงได้ทั่วพื้นโรง
ดำเนินเรื่องด้วยพากย์กับเจรจาเท่านั้น เหมือนโขนกลางแปลง
 ท่ารำ เป็นท่ารำที่ครบถ้วนตามแบบแผนศิลปะการรำ ทำบทตามถ้อยคำ และรำหน้าพาทย์ตามเพลงปี่พาทย์
วิธีบรรเลงปี่พาทย์ ทั้ง ๒ วงจะผลัดกันบรรเลงวงละเพลง ตั้งแต่โหมโรงเป็นต้นไปจนจบการแสดง

โขนโรงใน


โขนโรงใน คือโขนผสมกับละครในสถานที่แสดงเป็นโรงอย่างโรงละครใน มีฉากเป็นม่านผืนเดียว มีประตูออก ๒ ข้าง แต่เตียงสำหรับนั่งมี ๒ เตียง ตั้งขวางใกล้กับประตูข้างละเตียง มีปี่พาทย์ ๒ วง อาจตั้งตรงหลังเตียงออกไป หรือกระเถิบมาทางหน้าโรงนิดหน่อย แล้วแต่สถานที่จะอำนวย
ดำเนินเรื่องด้วยบทพากย์ บทเจรจา และบทร้อง มีทั้งคนพากย์ คนเจรจา ต้นเสียง ลูกคู่ และคนบอกบท (ร้อง)
วิธีแสดง เริ่มต้นอย่างละครใน คือ ตัวเอกออกนั่งเตียง แล้วร้องหรือพากย์ดำเนินเรื่องการแสดงต่อไป ก็แล้วแต่ว่า ตอนใดจะแสดงแบบโขน ตอนใดจะแสดงแบบละคร เช่น

ปี่พาทย์ทำเพลงวา พลลิงออกมานั่งตามที่พระรามพระลักษมณ์ออกมานั่งเตียง ต้นเสียงร้องเพลงช้า ปี่ใน ส่งเพลง ๑ เพลง ร้องร่าย และปี่พาทย์บรรเลงเพลงเสมอ ท้ายเพลงเสมอตัวโขนเข้าโรงหมด ปี่พาทย์ทำเลงกราวนอก โขนลิงออก แล้วสิบแปดมงกุฎ และพญาวานรออก พระลักษมณ์ พระรามออก รำกราวนอกเสร็จแล้ว พากย์ชมรถ และปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด ฯลฯ
อุปกรณ์ที่สำคัญในการแสดงโขน ซึ่งต่างจากการแสดงละคร ก็คือ ราชรถมีตัวม้าหรือราชสีห์เทียม และกลด มีผู้ถือกางให้ตัวเอก
เข้าใจว่า การที่โขนในสมัยหลังๆ มาจนปัจจุบัน ตัวพระ และตัวเทวดาไม่สวมหัวโขน คงจะเริ่มมาตั้งแต่โขนมาร่วมผสมกับละครใน เป็นโขนโรงในนี้เอง

โขนหน้าจอ


โขนหน้าจอ วิธีการแสดงทุกๆ อย่างเหมือนโขนงโรงในทุกประการ ผิดกันแต่สถานที่แสดงเท่านั้น เป็นโรงที่มีลักษณะต่างกัน

โรงของโขนหน้าจอ ก็คือ โรงหนังใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงให้สะดวกแก่การแสดงโขนเท่านั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากโรงหนังใหญ่ ก็คือ มีประตูเข้าออก ๒ ประตู ใต้จอตอนกลางมีมู่ลี่ หรือลูกกรงถี่ๆ เพื่อให้คนร้อง ซึ่งนั่งอยู่ภายในมองเห็นตัวโขน จอตอนนอกประตูทั้ง ๒ ข้าง เขียนภาพ ข้างขวาเขียนภาพพลับพลาพระราม ข้างซ้ายเขียนภาพปราสาทราชวัง สมมติเป็นกรุงลงกา ตั้งเตียงห่างจากประตูออกมาพอสมควร ๒ เตียง ข้างละเตียง วงปี่พาทย์สมัยก่อนตั้งด้านหน้าของที่แสดง สมัยปัจจุบัน ยกไปตั้งหลังจอตรงหลังคนร้องโขนทุกประเภท ตั้งแต่โขนกลางแปลงมาจนถึงโขนหน้าจอ มีเครื่องดนตรีพิเศษ อย่างหนึ่งประกอบ คือ "โกร่ง" เป็นไม้ไผ่ลำโต ยาวประมาณ ๓ - ๔ เมตร มีเท้ารองหัวท้ายสูงประมาณ ๘ เซนติเมตร วางกับพื้น ผู้ที่นั่งเรียงกันประมาณ ๔-๕ คน ถือไม้กรับทั้งสองมือตีตามจังหวะ ใช้เฉพาะเพลงที่ต้องการความครึกครื้น เช่น เพลงกราวนอก กราวใน เชิด ตั้งอยู่หลังฉากหรือจอ พวกแสดงโขนที่มิได้แสดงเป็นผู้ตี

โขนฉาก


โขนฉาก มีลักษณะดังนี้ คือ

โขนฉากแสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์

วิธีการแสดงเหมือนโขนโรงในทุกประการ นอกจากแบ่งเนื้อเรื่องให้เป็นตอนเข้ากับฉาก แต่ละฉากเท่านั้น ถ้าสถานที่แสดงมีที่แสดงที่หน้าม่านได้ เวลาปิดม่านก็อาจมีการแสดงหน้าม่าน เพื่อเชื่อมเนื้อเรื่องให้ติดต่อกันก็ได้

ละครใน


ละครใน

     เป็นละครที่แสดงในวัง ได้นำวิธีการเล่นเดินเรื่องอย่างละครนอก มาให้เหล่าระบำในพระราชฐานแสดง  โดยนำบทที่เคยแสดงโขนคือเรื่องรามเกียรตื์ และอุณรุท มาแสดงโดยนางในราชสำนัก จึงเรียกว่าละครนางใน หรือละครข้างใน ต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า ละครใน
     เรื่องที่แสดง  แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา
     การแต่งกาย  เครื่องแต่งกายประณีตงดงาม ตามแบบของกษัตริย์ เช่น มีมงกุฎ สังวาล ทับทรวง เจียระบาด ห้อยหน้า สนับเพลา พระภูษา ฉลองพระองค์ ฯลฯ

     ผู้แสดง 

 เดิมเป็นหญิงล้วน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ มี ละครในผู้ชายแสดง เช่น นายทองอยู่เป็นอิเหนา

     การแสดง  

ท่ารำ ต้องประณีตงดงามตามแบบราชสำนัก ละครในมุ่งดูศิลปะการร่ายรำมากกว่าเนื้อเรื่อง

     ดนตรี  

ใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก ใช้ทางในซึ่งมีระดับเสียงเหมาะกับผู้หญิง และมักเป็นเพลงที่มีลีลา ท่วงทำนองค่อนข้างช้า วิจิตรพิสดาร เหมาะกับลีลาท่ารำ

     เพลงร้อง

  ปรับปรุงให้มีทำนองและจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง มีต้นเสียงและลูกคู่ มักมีคำว่า "ใน" อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน

     สถานที่แสดง 

 เดิมแสดงในพระราชฐานเท่านั้น ต่อมาแสดงไม่จำกัดสถานที่

ละครนอก



       
      ละครนอก มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กัน แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร "โนห์รา" หรือ "ชาตรี" โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป

 ผู้แสดง

          ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์ เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง

การแต่งกาย

          ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า "ยืนเครื่อง"

 เรื่องที่แสดง

          แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์ บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
สมัยรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไข)

การแสดง

          มีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำ ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขัน ไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ถ้อยคำของผู้แสดง มักใช้ถ้อยคำ "ตลาด" เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า "ละครตลาด" ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร

ดนตรี

          มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงละครนอก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา

เพลงร้อง

          มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก" ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเอง โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก ๑ คน

 สถานที่แสดง


          โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว

ละครชาตรี


ละครชาตรี

           ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรี" หรือ "ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์" เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓ ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก
 
          
ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่ นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี" เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ ครั้ง คือ
ใน พ.ศ. ๒๓๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร

ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา" เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น ในสมัยต่อมา การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ ต้องดูโนห์รา
          
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่" การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ
ผู้แสดง

          
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่

การแต่งกาย

          ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้ ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง

          
ในสมัยโบราณ ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ - จันทวาท ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี
การแสดง

       


   เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆ วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์" ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า "คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง
ดนตรี

          
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า "กลองชาตรี") ๒ และฆ้อง ๑ คู่ แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
เพลงร้อง

          
ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี" อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง
สถานที่แสดง

          
ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย แม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ) เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว
http://www.thaidances.com/data/2.asp

ละครรำ


ความหมายของละครรำ

"ละครรำ" เป็นละครแบบหนึ่งของไทย คือ ละครประเภทที่เป็นนาฏศิลป์ ละครรำสมัยก่อนเรียกกันแต่เพียงว่า "ละคร" เพราะการเล่นละครสมัยก่อน ต้องมีรำ มีดนตรีประกอบ และมีบทร้องเล่าเรื่อง ครั้งต่อมาประมาณปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงนำเอาบทและรูปแบบการแสดงละครของชาวตะวันตก ที่เรียกว่า Play และ Farce มาแปลและดัดแปลง แล้วนำออกแสดงหลายเรื่อง เป็นเหตุให้เรียกละครไทย ที่แสดง มีการร้องรำอย่างเดิมว่า "ละครรำ" และเรียกละครที่แสดงด้วยคำพูด และท่าทางบนเวที มีฉากประกอบการแสดง และเปลี่ยนฉากไปตามท้องเรื่องว่า "ละครพูด" แต่ละครที่แสดงท่าทางแบบละครพูดนั้น ถ้ามีการร้องสลับด้วย หรือร้องล้วนๆ เรียกว่า "ละครร้อง"

ละครรำของไทยมีหลายประเภท เช่น "ละครชาตรี" หรือละครโนราชาตรี อย่างเช่นที่เล่นกันในภาคใต้ เรียกกันว่า "โนรา" อย่าง ๑ ละครที่เล่นราชสำนัก เรียกว่า "ละครใน" อย่าง ๑ "ละครนอก" อย่าง ๑ ละครทั้ง ๓ อย่างนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อธิบายกันมาแต่ก่อนว่า ละครในนั้นคือ ละครผู้หญิง มีได้แต่ของหลวง ส่วนละครที่เล่นกัน ในพื้นเมืองเรียกว่า ละครนอก แต่ก่อนนี้จะมีแต่ผู้ชายเล่น เพิ่งมีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิงได้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีละครผู้หญิงเกิดขึ้นนอกพระราชวัง ความที่อธิบายดังกล่าวมานี้ คงจะว่าไปตามสถานที่และเพศของผู้แสดง ทำให้ละครในกับละครนอก มีความแตกต่างกันในทำนองร้อง กระบวนการรำและเรื่องที่เล่น

ละครในเล่นเพียง ๓ เรื่อง คือ เรื่องรามเกียรติ์ เรื่อง ๑ เรื่องอุณรุท เรื่อง ๒ กับเรื่องอิเหนา เรื่อง ๑ ไม่เล่นเรื่องอื่น แต่ก่อนมา แม้จะมีละครผู้หญิงของหลวงเล่นเรื่องอื่น นอกจาก ๓ เรื่อง ก็เรียกว่า เล่นละครนอก บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์จากเรื่องอื่น เช่น สังข์ทอง และคาวี เป็นต้น เรียกว่า พระราชนิพนธ์ละครนอก

ส่วนละครนอกนั้น ก็จะเล่นแต่เรื่องอื่น ไม่เล่นเรื่องรามเกียรติ อุณรุท อิเหนา แม้แต่ละครผู้ชายของเจ้านายสมัยก่อน เช่น ละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษเทเวศร์ เป็นต้น เล่นเรื่องอิเหนาก็เรียกว่า เล่นละครในความแตกต่างจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้แสดงเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย (ดำรงราชานุภาพ : ตำนาน เรื่อง ละครอิเหนา น.๑-๒)
หลักการเกี่ยวกับตัวละคร

นับแต่โบราณ ผู้แสดงละครรำที่ถือว่าเป็นตัวละครสำคัญมีอยู่เพียง ๓ คนเท่านั้น คือ ตัวทำบทเป็นผู้ชาย ที่เรียกว่า นายโรง หรือยืนเครื่องอย่าง ๑ ตัวทำบทเป็นผู้หญิงที่เรียกว่านางอย่าง ๑ ตัวสำหรับทำบทเบ็ดเตล็ด เช่น ฤาษี ยักษ์ พราน ยายตา และสัตว์เดียรัจฉาน เช่น ม้าและนกในเรื่องละคร ตลอดจนเล่นตลกให้ขบขันเรียกว่า จำอวดอย่าง ๑ ตลกในละครสันสกฤต เขาเรียกว่า วิทูษะกะ หรือ วิทูษก และละครของฝรั่งก็มีตัวตลก (clown) ด้วย ๑ ผู้ทำบทเบ็ดเตล็ดในละครไทยนี้ ในบางเรื่องก็ทำบทเป็นผู้ร้าย คือ เป็นศัตรูกับพระเอก หรือนางเอก เช่น ทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ หัวใจของเรื่องรามเกียรติ์ที่ใช้แสดงโขนก็อยู่ที่ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดา ตัวละครสำคัญ ตอนนี้ก็มีพระราม ๑ นางสีดา ๑ ทศกัณฐ์ ๑ ส่วนตัวอื่นก็เป็นแค่ตัวประกอบ เช่น มารีศเป็นฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งแปลงตัวเป็นกวางทอง พระลักษมณ์เป็นอนุชาของพระราม

ละครรำแบบดั้งเดิมของไทย เช่น ละครโนราชาตรี ก็มีผู้แสดงเป็นตัวละครสำคัญ ๓ คนเท่านั้นคือ ถ้าเล่นเรื่องมโนห์รา นายโรง จะแสดงบทของพระสุธน ๑ นางจะแสดงบทของนางมโนห์รา ๑ จำอวดหรือตัวตลกจะแสดงบทของพรานบุญ ๑ ละครนอกถ้าเล่นเรื่องรถเสน นายโรงก็จะแสดงบทของพระรถเสน ๑ นางก็จะแสดงบทของนางเมรี ๑ จำอวดหรือตัวตลกจะแสดงบทเป็นม้าของพระรถเสน ๑ เรื่องที่นิยมใช้เล่นละครนอกมาแต่โบราณ คือ สุวรรณหงส์ ซึ่งตอนที่นิยมเล่นกันจนเป็นที่เลื่องลือมากมี ๒ ตอน คือ ตอนพราหมณ์เล็กพราหมณ์โต และตอนกุมภณฑ์ถวายม้า ผู้แสดงซึ่งเป็นตัวละครสำคัญก็มีอยู่ ๓ คน เช่นกัน คือ ตอนพราหมณ์เล็กพราหมณ์โต มีพราหมณ์เล็ก (คือพราหมณ์เกศสุริยง) ๑ พราหมณ์โต (คือพราหมณ์กุมภณฑ์) ๑ และพระสุวรรณหงส์ ๑ ส่วนตอนกุมภณฑ์ถวายม้าก็มีผู้แสดงสำคัญ ๓ คน คือ กุมภณฑ์ยักษ์ ๑ เกศสุริยงยักษ์ ๑ และพระสุวรรณหงส์ ๑ สำหรับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่นิยมกันว่าสามารถนำมาดัดแปลงเล่นละครได้ดี ก็เพราะมีตัวละครสำคัญอยู่ในเรื่อง ๓ คนเช่นกัน คือ ขุนแผนเท่ากับตัวนายโรง หรือยืนเครื่อง ๑ นางพิมหรือวันทองเท่ากับตัวนาง ๑ และขุนช้างเท่ากับตัวจำอวดหรือตัวตลก ๑ แม้แต่เพลงพื้นเมือง เช่น เพลงฉ่อย เพลงโคราชก็เช่นเดียวกัน เมื่อเล่นเข้าเรื่อง เช่น ตอนที่เรียกว่าชิงชู้ และตีหมากผัว เป็นต้น ก็จะมีตัวละครสำคัญ ๓ คนเช่นกัน การที่ละครมีผู้แสดงมากขึ้นนั้นเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อศิลปะทางการแสดงได้รับการปรับปรุงและส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ก็มีตัวยืนเครื่องรองและตัวยืนเครื่องเลวเพิ่มขึ้น ตัวนางก็มีเพิ่มขึ้น เลยเรียกตัวนางแต่เดิมว่า นางเอก และเรียกตัวนางที่เพิ่มขึ้นว่า นางเลว ผู้แสดงที่เพิ่มขึ้นนี้ล้วนเป็นตัวประกอบทั้งสิ้น จะขยายเรื่องให้มีผู้แสดงประกอบมากมายเท่าใดก็ได้ เช่น จัดแสดงให้มีระบำแทรกเข้าไป ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ก็เพิ่มเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพาร และนางสนมกำนัล ถ้าเป็นตอนออกศึกก็เพิ่มกองทัพเหล่าต่างๆ และอื่นๆ เข้าไป แต่ผู้แสดงสำคัญของละคร ก็คือผู้แสดง ๓ คน ดังกล่าวนั่นเอง

ตามที่ได้บรรยายมาข้างต้น ปรากฏหลักฐานในศักดินาพลเรือนครั้งกรุงเก่า (พ.ศ. ๑๙๑๙) สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) เอ่ยถึงช่างดอกไม้เพลิง พนักงานหนัง พนักงานปี่พาทย์ไม้ต่ำไม้สูง และเอ่ยถึงพนักงานละครว่า
หมื่นเสนาะภูบาลเจ้ากรมขวา
หมื่นโวหารพิรมย์เจ้ากรมซ้าย นาคล ๔๐๐
นายโรง นา ๒๐๐
ยืนเครื่องรอง นาคล ๑๐๐
นางเอก นาคล ๑๐๐
ยืนเครื่องเลว นาคล ๘๐
นางเลว นาคล ๘๐
จำอวด นา ๕๐
เรื่องที่ใช้ในการแสดงละครรำ

เรื่องที่ใช้ในการแสดงละครรำมักนำมาจากชาดกบ้าง นิทานพื้นเมืองบ้าง เช่น ละครชาตรี นำเอาเรื่องพระสุธนนางมโนห์รามาจาก สุธนกุมาราวทาน ในคัมภีร์ชาดกสันสกฤตชื่อ ทิวยาวทาน เช่นที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์ปัญญาสชาดกนำเอาไปแต่งเป็นชาดกภาษาบาลี ชื่อ สุธนชาดก อีกต่อหนึ่งนั่นเอง ส่วนเรื่องรถเสนนั้นนำเอานิทานพื้นเมืองเรื่องพระรถเสนและนางกังรี เช่นที่มีกล่าวในพงศาวดารล้านช้างไปแต่งขึ้น แต่ละครรำของไทยมิได้แสดงกันอยู่เพียงเรื่องมโนห์ราและรถเสน เพียง ๒ เรื่องนี้เท่านั้น มีบทละครสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายเรื่อง บทละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติหลายเรื่อง (แต่ไม่บริบูรณ์สักเรื่องเดียว) บทละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยา ๑๔ เรื่อง คือ

เรื่องการะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ นางมโนห์รา โม่งป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต

นอกจากนี้ ยังมีบทละครนอกสำนวนกลอนเป็นของเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ อยู่อีก ๕ เรื่อง คือ ไกรทอง โคบุตร ไชยเชษฐ์ พระรถและศิลป์สุริวงศ์

เรื่องสำหรับใช้เป็นบทละครนี้ เมื่อขยายการแสดงให้หรูหราโอฬารขึ้น ก็ต้องมีผู้แสดงมากขึ้น การแสดงละครตามบทกลอนในเรื่องเหล่านี้ มีการนำเอาศิลปะต่างๆ เข้ามาใช้ประกอบการแสดงด้วย เช่น ศิลปะทางกวีนิพนธ์ กล่าวคือ กลอนบทละครซึ่งแต่งเป็นกลอนแปด มีกำหนดหน้าพาทย์ ฯลฯศิลปะในการแสดงละครรำ

ในสมัยโบราณมีศิลปะสำคัญในการแสดงละครรำอยู่ ๓ ประเภท คือ บทขับร้อง ดุริยางคดนตรี และการฟ้อนรำ (คือ นาฏศิลป์)

๑. บทขับร้อง

บทขับร้องในการเล่นละครแต่เดิมคงจะใช้กลอนด้น คือ ร้องกลอนสด เช่นเดียวกับการเล่นเพลงพื้นเมือง เช่น เพลงฉ่อย และเพลงโคราช เป็นต้น ก็ใช้ร้องด้น ผู้เล่นเพลงพื้นเมืองเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกหัดจากครูบาอาจารย์เพลงมาก่อน ครูจะสอนให้ศิษย์ท่องจำกลอนเพลงเป็นตอนๆ ไป เช่น ตอนไหว้ครู ตอนชมโฉม (หมายถึงชมความงามของผู้หญิง) ตอนชมนกชมไม้ ตอนตัดพ้อต่อว่า เป็นต้น

ตัวอย่าง บทไหว้ครูของนักแสดงพื้นบ้าน

สิบนิ้วลูกจะประนม ถวายบังคมขึ้นเหนือศีรษะ
ต่างดอกไม้ธูปเทียน ขึ้นเหนือเศียรบูชา
ไหว้ทั้งครูเฒ่าที่เก่าก่อน ได้ฝึกสอนให้มีมานะ
ทั้งโทนทับกระจับปี่ ที่ดีดสีเป็นจังหวะ
จะไหว้ผู้รู้ครูพัก ทั้งครูเอกอักขระ
ไหว้บิตุราชมาตุรงค์ ด้วยจิตจงอุตสาหะ
ช่วยคุ้มครองป้องกาย ต่อผู้ชายสะมะถะ
จะคิดแก้ไขให้ชยะ ไปตามจังหวะ กลอนเอย

ตั้งแต่ฝึกหัดศิษย์จนสามารถร้องบทไหว้ครูได้แล้ว ถ้ามีโอกาส ครูเพลงจะให้ออกเล่นเป็นลูกคู่ไปก่อน จะออกเล่นเป็นพ่อเพลง แม่เพลงหรือตัวคอรองยังไม่ได้ จึงต้องหัดเป็นลูกคู่ไปก่อน และท่องจำกลอนจนจำได้อย่างแม่นยำ และว่ากลอนในตอนนั้นๆ ได้คล่อง จึงหัดด้น หมายถึง หัดผูกกลอนขับร้องด้วย ปฏิภาณของตนเอง ครั้งแรกๆ ก็ร้องด้นเอากลอนที่ครูสอนให้ท่องเอาตรงนั้นมาต่อตอนนี้ เอาตอนนี้ไปต่อตอนโน้น ถึงจะตะกุกตะกักขลุกขลักและฟังแล้วน่ารำคาญ ไม่ค่อยคล่องก็ตาม แต่ครูก็จะปล่อยให้ด้นไปภายหลังก็คล่องขึ้นๆ และผูกกลอนร้องด้นได้อย่างชำนิชำนาญด้วยปฏิภาณของตนเอง ถ้ายังไม่ชาญสนามก็เป็นตัวคอรองไปก่อน เมื่อออกงานหลายๆ ครั้งจนจัดเจนขึ้นก็เป็นพ่อเพลงแม่เพลงได้ การเล่นละครครั้งโบราณก็คงจะมีลักษณะเดียวกัน เช่น โนราชาตรี ก็จะต้องท่องจำบทแล้วใช้ด้นกลอนมาก่อนเช่นเดียวกัน ภายหลังจึงมีผู้แต่งและเขียนบทลงเป็นตัวหนังสือ แล้วแต่บทให้ประณีต ใช้เล่นละครสืบมา

๒. ศิลปะทางดุริยางคดนตรี

เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของการเล่นละครรำ เพราะการขับร้องและดุริยางคดนตรีเป็นศิลปะสำคัญที่มีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของประชาชนคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นได้จากประเพณีเลี้ยงลูกของคนไทยโบราณ เมื่อลูกเกิดใหม่พ่อแม่คิดประดิษฐ์ถ้อยคำขับร้องเป็นเพลงกล่อมลูก

"นอนไปเถิดแม่จะกล่อม นวลละม่อมแม่จะไกว แม่อย่าร้องไห้ สายสุดใจ เจ้าแม่เอยฯ"

ถ้าเป็นลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็จะมีพิธีบรรเลงดุริยางคดนตรีขับกล่อม ด้วยบทเห่ในพระราชพิธีขึ้นพระอู่ เช่น ในบทละครเรื่องอุณรุท กล่าวถึงพระพี่เลี้ยงเชิญพระกุมารลงพระอู่แล้วอยู่งานช้า กล่อมให้บรรทมด้วยเพลง "ช้าลูกหลวง" การเห่กล่อมพระบรรทมที่สืบทอดกันมา เริ่มต้นด้วยทำนอง "ช้าลูกหลวง" ซึ่งเป็นทำนอง ที่ได้มาจากลัทธิพราหมณ์ เป็นทำนองที่มีจังหวะยืดยาวไม่มีจังหวะหน้าทับ แต่มีการสีซอสามสายคลอ เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับการไกวบัณเฑาวะว์ เมื่อข้าหลวงหรือพระพี่เลี้ยงขับกล่อมไปจนจบวรรคหนึ่งๆ ซอสามสายก็จะรับเช่นนี้เรื่อยไป

เมื่อดุริยางคดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยทุกระดับเป็นปกติเช่นนี้ ในการรื่นเริงบันเทิงสนุกสนานของคนไทยจึงย่อมจะขาดดุริยางคดนตรีไปเสียมิได้ ดุริยางคดนตรีย่อมจะเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการละเล่นระบำรำฟ้อน การแสดงละครรำของชนชาวไทยสืบมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดุริยางคดนตรีสมัยโบราณก็คงใช้การตบมือให้จังหวะและตีโกร่ง ตีกรับ ประกอบการฟ้อนรำ เช่น การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ตามชนบท แล้วต่อมาจึงคิดประดิษฐ์เครื่องดุริยางคดนตรีขึ้นเองบ้าง เช่น กลอง และเอาแบบอย่างมาจากชาติอื่นบ้าง เช่น เครื่องปี่พาทย์ ซึ่งคงจะเอาแบบอย่างมาจาก "ปัญจดุริยางค์" ของอินเดียเป็นหลัก แล้วดัดแปลงต่อมาจนเป็นปี่พาทย์เครื่องคู่และปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในปัจจุบัน วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนและละครนั้นใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบการำของโขนละครที่ไม่ใช้บทร้องนั้นเรียกกันมาว่า "เพลงหน้าพาทย์" และเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครโดยทั่วไปนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น ๘ จำพวก คือ
ก. ประกอบกิริยาไปและมา
ข. ประกอบการเตรียมยกทัพ
ค. ประกอบการสนุกสนานเบิกบานใจ
ง. ประกอบการสำแดงฤทธิ์เดช
จ. ประกอบการรบหรือต่อสู้
ฉ. ประกอบการแสดงความรักที่เรียกในภาษาละครว่า "เข้าพระเข้านาง"
ช. ประกอบการนอน
ซ. ประกอบการเศร้าโศก และยังมีรำใช้บทหรือรำบทอีกอย่างหนึ่ง

๓. ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ หรือนาฏศิลป์

ซึ่งเป็นหัวใจของการแสดงระบำและละครรำ การฟ้อนรำ หรือนาฎศิลป์ ย่อมประกอบด้วยท่าทางเคลื่อนไหว หรือกิริยาอาการ ซึ่งท่านคณาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้คัดเลือกนำมาประยุกต์ขึ้น เป็นท่าฟ้อนรำ ท่าบางท่า ก็เอามาจากกิริยาท่าทางของมนุษย์ เช่น ท่ารำแม่บทในตำราฟ้อนรำของไทยหลายท่า เช่น ท่าที่เรียกว่าสอดสร้อยมาลา พิสมัยเรียงหมอน นางกล่อมตัว และโจงกระเบนตีเหล็ก เป็นต้น ท่าบางท่าก็เอามาจากกิริยาท่าทางของสัตว์ เช่น ท่าเรียกในตำราฟ้อนรำว่า สิงโตเล่นหาง แขกเต้าเข้ารัง นกยูงฟ้อนหาง กวางเดินดง ท่าชะนีร่ายไม้ หงส์ลินลา และท่าฟ้อนรำบางท่าก็นำมาจากสิ่งธรรมชาติ อย่างเช่น ท่าที่เรียกในตำราฟ้อนรำว่า ลมพัดยอดตอง บัวชูฝัก เครือวัลย์พันไม้ พระจันทร์ทรงกลด ท่ารำของไทยนั้น แม้จะเอามาจากกิริยาท่าทางของมนุษย์ สัตว์และสิ่งธรรมชาติ ตลอดจนบางท่าที่เราเลียนแบบมาจากต่างชาติ แต่ก็ได้ประดิษฐ์ดัดแปลงให้เข้ากับหลักแห่งความเชื่อถือ ประกอบด้วยจารีตประเพณีและวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งถือเป็นแบบฉบับสืบมา ฉะนั้น ท่าระบำรำฟ้อนของนาฏศิลป์ไทย แม้จะดูห่างไกลไปจากกิริยาท่าทางและสิ่งธรรมชาติจริงๆ ไปบ้าง ก็พึงทราบว่าท่านมิได้นำเอามาโดยตรง หากแต่ได้เลียนเอามา แล้วมีการประดิษฐ์ดัดแปลงให้เป็นศิลปะที่งดงามเพริศพริ้งยิ่งขึ้นอีกด้วย

ท่ารำหรือนาฏศิลป์ของไทยนั้น เป็นการประดิษฐ์ขึ้นให้เห็นงามด้วยความคิดฝันเป็นจินตนาการ ท่ารำของโขนละครไทยจึงเป็นอย่างวิถีแห่งกวี หลักการในเรื่องศิลปะของไทยเรา เป็นเรื่องที่ควรพิจารณานำมาศึกษาในด้านจิตใจหรือเจตนารมณ์ แล้วจะมีความเข้าใจ และเมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว ก็จะซาบซึ้งในรสของศิลปะเป็นอย่างดี ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ศิลปะของไทยนั้นหลายอย่างหลายประการเราเลียนมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะท่ารำหรือนาฏศิลป์ เราเลียนมาจากกิริยาท่าทางของคนและสัตว์ บางท่าเลียนมาจากธรรมชาติ แต่เมื่อเราเลียนมาแล้ว เราเอามาประดิษฐ์ให้เป็นศิลปะที่งดงามตามลีลา ท่ารำ และเยื้องกรายให้เข้ากับท่วงทำนองขับร้องและดนตรี เช่น จะชี้นิ้วก็มีท่ายกแขนวาดข้อมือแล้วชี้นิ้ว ศิลปินคนใดทำได้สวยงามก็จะน่าดูมาก การรำซ้ำท่าหรือทำนองดนตรีที่มีลีลาซ้ำก็เป็นแบบแผนประเพณีนิยมของไทย เป็นการย้ำซ้ำจังหวะซึ่งถือว่าเก๋ ในศิลปะทางวรรณคดีของไทยยังใช้คำซ้ำ เช่น พะพราย ยะยิ้ม ยะแย้ม บางครั้งยืดเสียง เช่น เพราะ-ไพเราะ ฯลฯ แต่ก็มิได้ซ้ำเฉยๆ หากแต่มีการพลิกแพลง ถ้าดูและฟังด้วยความเข้าใจก็จะรู้สึกว่างดงามและไพเราะ ผู้ดูผู้ฟังจำต้องใช้ความคิดและปัญญาโดยสร้างจินตนาการของตนเองตามไปด้วย ถ้าทราบหลักการและจารีตประเพณีของไทย แล้วตั้งใจและใช้ความสังเกตเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้สามารถติดตามเรื่องและเข้าใจความหมาย ทั้งอาจมองเห็นไปถึงจิตใจอันประณีตแจ่มใสของประชาชนคนไทย ซึ่งแฝงอยู่ในศิลปะที่สวยงามเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น สถานที่สำหรับแสดงโขนละครฟ้อนรำของไทยแต่โบราณ จึงไม่มีฉากประกอบจะมีแต่ม่านกั้น มีช่องประตูเข้าออก ๒ ข้าง หลังม่านเป็นที่พักของผู้แสดงโขนและละคร ข้างหน้าม่านออกมามีเตียงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับให้โขนละครตัวสำคัญนั่ง หรือนอน หรือยืนตามแต่บท ถัดออกมาเป็นที่ว่าง จะปูเสื่อหรือพรมก็ได้ตามแต่ฐานะ สำหรับให้ตัวโขนละครนั่ง ยืน เดิน หรือรบพุ่งต่อสู้กัน ตามแต่จะมีบทบอกให้แสดง ถ้าเป็นละครนอก เมื่อยังไม่ถึงบท ผู้เล่นจะไปนั่งอยู่กับคนดูก็ได้

ตัวโขนละครในท้องเรื่องจะอยู่ในปราสาท ราชวัง ในสวรรค์วิมานในป่าเขาลำเนาไพร ใต้บาดาล หรือท้องทะเลมหาสมุทร จะเหาะเหินเดินอากาศ หรือว่ายน้ำลงเรือ ก็คงอยู่ที่บนเตียงและบริเวณหน้าม่านนั่นเอง แต่คนดูก็สามารถสร้างจินตนาการ หรือความคิดเห็นติดตามเรื่องไปได้ อย่างสนุกสนาน หรือโศกซึ้งตรึงใจ โดยอาศัย บทร้อง บทเจรจา กับเพลงปี่พาทย์ ดุริยางคดนตรี และ กิริยาท่าทางของตัวละครและโขนแสดงว่า ประชาชนคนไทยสมัยก่อน มีจินตนาการสูงมาก สามารถติดตามเรื่องการแสดง โขนละครได้เป็นอย่างดี โดยมิต้องอาศัยสูจิบัตร

ปี่พาทย์ที่ไทยเรานำมาเล่นละครรำมี ๒ อย่าง ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรีอย่าง ๑ ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่าง ๑


ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรี (โนราชาตรี)

เครื่องดนตรีมี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกว่าปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) ๒ ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกว่า โหม่ง) ฉิ่งและกรับ (ภาคใต้เรียกว่า แกระ)

ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า คือ ปี่ ระนาด ตะโพน (คือ โทนสองหน้า) กลองและฆ้องวง

ละครชาตรีมีเครื่องทำเสียงสูงต่ำเป็นลำนำได้เพียงแต่ปี่อย่างเดียว แต่ปี่พาทย์เครื่องห้ามีเครื่องทำลำนำได้ ๓ อย่าง คือ ปี่ ระนาด และฆ้องวง

ละครที่เล่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนตลอดสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งละครหลวง และละครราษฎร์ ใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าทั้งสิ้น เพิ่งจะมาเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ขึ้นเป็นเครื่องใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะเกิดการเล่นเสภารับปี่พาทย์ สมัยรัชกาลที่ ๒ เสภาอย่างโบราณขับอย่างเล่านิทาน ไม่มีการส่งปี่พาทย์
ลักษณะที่สำคัญในการแสดงละครรำ

ละครรำมีลักษณะการแสดงแบ่งเป็น ๒ กระบวน คือ ใช้ร้องเป็นหลักกระบวนหนึ่ง ใช้ปี่พาทย์เป็นหลักกระบวนหนึ่ง

๑. กระบวนที่ใช้ร้องเป็นหลัก

ลักษณะที่ใช้ร้องละครเป็น ๓ จังหวะ คือ จังหวะช้า จังหวะกลาง และจังหวะเร็ว

จังหวะช้า คือ

๑.๑ ร้องช้า ลูกคู่รับ ไม่ใช้ปี่พาทย์เรียกเป็นสามัญว่า "ร้องช้า" ในกระบวนร้องอย่างนี้ยังมีลำนำอื่นอีกหลายเพลงที่เรียกว่า "ช้าอ่านสาร" "ยานี" และ "ชมตลาด" เป็นต้น
๑.๒ ร้องช้าเข้ากับปี่ เรียกว่า "ช้าปี่" "โอ้ปี่" และ "โอ้ชาตรี" เป็นต้น
๑.๓ ร้องช้าเข้ากับโทน เช่น ร้อง "ลงสระ" และ "ชมดง" เป็นต้น

จังหวะกลาง ละครร้องจังหวะกลางนั้น คือ "ร้องร่าย" มีแต่ลูกคู่รับ ไม่มีปี่พาทย์ ใช้ร้องพื้นเรื่องละคร เพราะฉะนั้นละครจึงร้องร่ายมากกว่าอย่างอื่น จังหวะเร็ว ละครร้องจังหวะเร็วนั้นพวกละครชาตรีเรียกว่า "ร้องสับ" ละครในกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า "ร้องสับไท" (สับ คือ ศัพทย) มีแต่ลูกคู่รับ ไม่ทำปี่พาทย์เหมือนกับร้องร่าย แต่จังหวะเร็วกว่า ใช้แต่เฉพาะเมื่อละครรำบทรุกร้น เช่น เวลาไล่กัน เป็นต้น

๒. กระบวนละครที่ใช้ปี่พาทย์เป็นหลัก

มี ๒ อย่างคือ ทำโหมโรงอย่าง ๑ ทำเพลงรำอย่าง ๑

๒.๑ โหมโรง คือ ปี่พาทย์จะบรรเลงในเวลาตัวละครแต่งตัวก่อนจะเล่น เป็นการบอกให้คนดูทราบว่าจะเริ่มเล่นละคร การโหมโรงของละครชาตรีใช้เพลงตามแบบเก่าบรรเลง เช่น "เพลงซัด" เพลง ๑ "เชิด" เพลง ๑ กับเพลง"เพลง" เพลง ๑ รวม ๓ เพลงเท่านั้น แต่โหมโรงอย่างละครนอก และละครใน ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงเรื่องยืดยาวตามแบบโหมโรงของโขน อนึ่ง เวลาเลิกเล่น ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงลาโรงอีกเพลงหนึ่ง คู่กับโหมโรงทำเพลง "กราวรำ" เพลงเดียว
๒.๒ เพลงรำ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงรำของละครรำนั้นใช้จังหวะช้า จังหวะกลาง และจังหวะเร็ว ๓ อย่าง คล้ายกับจังหวะ ที่ละครร้องใช้ปี่พาทย์บรรเลง โดยลำพังอย่าง ๑ ใช้ร้องช่วยปี่พาทย์อีกอย่าง ๑ เป็น ๒ กระบวนซึ่งต่างกัน คือ
กระบวนที่ ๑ ปี่พาทย์บรรเลงโดยลำพังนั้น เช่น รำเสมอ รำกลม รำเชิด เป็นต้น
กระบวนที่ ๒ ร้องช่วยปี่พาทย์ ใช้สำหรับละครรำเพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงเชิดฉิ่ง
เพลงช้า ตะโพนจะทำจังหวะ จ๊ะ โจ๋ง จ๊ะ ถิ่ง โจ๋ง ถึง และร้องบท "เย็นย่ำ จะค่ำอยู่แล้วลงรอนรอน" และ "ฉุยฉาย" เป็นต้น
เพลงเร็ว ตะโพนทำจังหวะ ต๊ะ ถึง ถึง และร้องบท หรือ"รักเจ้าสาวคำเอย" "แม่ศรีเอย" เป็นต้น
เชิดฉิ่ง ตีฉิ่งเป็นจังหวะเร็ว (ไม่ใช้ตะโพน) และร้องบท "หริ๊งหริ่งได้ยินเสียงฉิ่งก็จับใจ" เป็นต้น

 ละครรำของไทยเรา เดิมใช้ปี่พาทย์อย่างละครชาตรี ต่อมาจึงใช้ปี่พาทย์ของโขน (ดำรงราชานุภาพ : ตำนานเรื่องละครอิเหนา หน้า ๑๖-๒๘)